วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สมุนไพรแก้ท้องผูก


สมุนไพรแก้ท้องผูก















        อาการท้องผูกเกิดจากสาเหตุหลายประการ ที่สำคัญ คือ ชอบรับประทานอาหารที่มีกากน้อย ได้แก่ อาหารจำพวกแป้ง เนื้อสัตว์ ข้าวและขนมหวานต่างๆ ไม่ชอบรับประทานผักและผลไม้ ดื่มน้ำน้อยเกินไป ถ่ายอุจจาระไม่เป็นเวลาและชอบกลั้นอุจจาระ ออกกำลังกายน้อยเกินไป ความเครียดในการงาน คนแก่มักท้องผูกเพราะความต้องการอาหารน้อยลงและลำไส้ไม่ค่อยทำงาน คนไข้ที่นอนนานๆไม่ได้ออกกำลัง ลำไส้จะไม่บีบตัวและท้องผูก
     วิธีแก้ไข รับประทานอาหารที่มีกาก เช่น ผัก ผลไม้ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ออกกำลังให้สม่ำเสมอ ถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน ถ้าจำเป็นใช้สมุนไพรที่เป็นยาระบาย
     ข้อควรระวังในการใช้ยาระบายหรือยาถ่าย
1. คนไข้อ่อนเพลีย
2. มีอาการปวดท้องรุนแรงหรืออาเจียน
3. ท้องผูกเป็นเวลานาน ใช้ยาระบายไม่ได้ผล ควรสงสัยว่าอาจเป็นเพราะลำไส้อุดตัน
4. มีการอักเสบในช่องท้อง เช่น ไส้ติ่งอักเสบ

ผู้ป่วยข้างต้นควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
     หลักการเลือกใช้สมุนไพรที่เป็นยาระบาย คือ ควรเลือกให้เหมาะกับสาเหตุของอาการท้องผูก ดังนี้
1. ยาระบายชนิดเพิ่มกาก เป็นสมุนไพรที่มีส่วนประกอบเป็นโพลีแซคคาลายด์ ซึ่งมีโมเลกุลใหญ่ เช่น เม็ดแมงลัก หรือมีเส้นใยมาก ได้แก่ มะละกอสุก เป็นต้น เหมาะกับผู้ที่รับประทานอาหารที่มีกากน้อย
2. ยาระบายชนิดกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้บีบตัวเพื่อขับถ่าย เหมาะกับคนสูงอายุ ผู้ป่วยที่นอนนานๆ นักธุรกิจที่เคร่งเครียด หรือท้องผูกด้วยสาเหตุอื่นๆ สมุนไพรในกลุ่มนี้มีสารแอนทราควิโนนกลัยโคซายด์เป็นสารสำคัญ ได้แก่ ชุมเห็ดเทศ มะขามแขก เป็นต้น ยาระบายชนิดนี้นิยมใช้กันมาก แต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 7 วัน เพราะพบว่ามีการทำลายระบบประสาทที่ควบคุมการบีบตัวของลำไส้ หรือทำให้ลำไส้ชินต่อยาและไม่ยอมทำงานตามธรรมชาติ คนไข้จะต้องรับประทานยาถ่ายชนิดนี้ทุกวันและต้องเพิ่มขนาดขึ้น ห้ามใช้กับเด็กและหญิงมีครรภ์
     ในบางกรณีควรแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาทั้งสองกลุ่มร่วมกันจะได้ผลดีกว่า เช่น คนชราซึ่งท้องผูกเพราะรับประทานอาหารน้อยและลำไส้ไม่ค่อยทำงาน
3. ยาระบายชนิดเป็นกรดหรือเกลือ เช่น มะขามเปียก ความเป็นกรดหรือเกลือจะทำให้ระดับความเป็นกรดด่างในทางเดินอาหารเปลี่ยนไป ร่างกายจะขับน้ำเข้ามาในทางเดินอาหารมากขึ้น เพื่อปรับสภาพกรดด่างจึงทำให้ระบายได้

ขี้เหล็ก ใช้ใบอ่อน 2-3 กำมือ หรือแก่นขนาดยาวชิ้นละ 2 องคุลี (4-6 ซม.) 3-4 ชิ้น ต้มกับน้ำ 1 ถึง 1ครึ่งถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อย ดื่มตอนเช้า หรือก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว
คูน ใช้เนื้อในฝักก้อนขนาดหัวแม่มือ (4 กรัม) ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ใส่เกลือเล็กน้อย รับประทานครั้งเดียว
ชุมเห็ดเทศ ใช้ช่อดอก 1-3 ช่อ ต้มจิ้มน้ำพริก หรือใบสด 8-12 ใบ ปิ้งไฟให้เหลือง หั่นต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อย รินเฉพาะน้ำดื่มหรือใบแห้ง ขนาดเท่ากับใบสดต้มหรือชงน้ำดื่ม หรือบดเป็นผงปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย รับประทานก่อนนอน หรือเมื่อมีอาการท้องผูก
มะขาม ใช้มะขามเปียก 10-20 ฝัก (70-80 กรัม) จิ้มเกลือ รับประทานหรือดื่มน้ำตามมากๆ หรือทำเป็นน้ำมะขามดื่ม
     ข้อควรระวัง รับประทานมากไปอาจทำให้ท้องเสียได้
มะชามแขก ใช้ใบ 2 กรัม หรือฝัก 10-15 ฝัก ขิงประมาณ 1 กรัม หรือกานพลู 1-2 ดอก ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว 5 นาที เติมเกลือเล็กน้อย รับประทานครั้งเดียว
มะละกอ รับประทานเป็นผลไม้
แมงลัก ใช้ผลครึ่งถึง 1 ช้อนชา แช่น้ำให้พอง แล้วรับประทานครั้งเดียวก่อนนอน
     ข้อควรระวัง อย่ารับประทานมากเกินไปจะทำให้แน่นท้องได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น