สมุนไพรแก้ไข้
อาการไข้ ร่างกายของคนเราจำเป็นต้องมีการปรับอุณหภูมิให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม ไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของอากาศภายนอก เพื่อให้การทำงานของร่างกายเป็นไปได้อย่างปกติ ศูนย์ที่ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมินี้อยู่ในสมองส่วนกลาง ซึ่งศูนย์นี้จะมีหน้าท่ควบคุมอุณหภูมิรับสัญญาณจากบริเวณต่างๆของร่างกาย และคอยควบคุมให้ร่างกายเก็บความร้อน สร้างความร้อนเพิ่มหรือลดความร้อนโดยถ่ายเทความออกไปมากขึ้น อุณหภูมิปกติของคนไม่ได้คงที่ตลอดเวลา มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในแต่ละช่วงของวัน โดยเฉพาะในช่วงค่ำ 18.00-20.00 น. อุณหภูมิมักสูงสุดและจะค่อยๆลดลงจนต่ำสุดในเวลาใกล้สว่าง 2.00-4.00 น. และจะเพิ่มสูงขึ้นอีกเช่นนี้ทุกวัน การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเช่นนี้สังเกตเห็นได้ชัดในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ไข้ เป็นอาการที่แสดงถึงความผิดปกติของร่างกาย หมายถึง สภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สบาย ผิวหนังร้อน โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก ลำตัว ซอกรักแร้และขาหนีบ เป็นต้น ไข้จำแนกตามระดับอุณหภูมิได้เป็น 3 ระดับ คือ ไข้ต่ำ อุณหภูมิร่างกายอยู่ระหว่าง 37.0 ํc - 38.9 ํc ไข้ปานกลาง อุณหภูมิร่างกายอยู่ระหว่าง 38.9 ํc - 39.5 ํc ไข้สูง อุณหภูมิร่างกายอยู่ระหว่าง 39.5 ํc - 40.0 ํc สาเหตุของไข้มีมากมาย ดังนี้คือ 1. การติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และโปรโตซัว เช่น ไข้หวัด ไข้มาลาเรีย ไข้จากแผล ฝีหนอง 2. การกระตุ้นจากเหตุผิดปกติบางอย่างในร่างกายที่ไม่ใช่การติดเชื้อ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง 3. ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิมิได้รับการกระทบกระเทือนจากความผิดปกติในสมองโดยตรง เช่น เนื้องอกในสมอง เส้นเลือดในสมองแตก 4. ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิมิได้รับการกระทบกระเทือนจากเหตุภายนอก เช่น การผ่าตัด การตื่นเต้นสุดขีด เป็นต้น 5. การแพ้ยาหรือเซรุ่ม เช่น ไข้ภายหลังการให้เลือด 6. เหตุอื่นๆ เช่น การออกกำลังกายกลางแดด เป็นต้น การวัดไข้โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า เทอร์โมมิเตอร์ จะช่วยจำแนกความหนักเบาของไข้ได้ง่ายขึ้น ถ้าไม่มีอุปกรณ์ให้ใช้หลังมือสัมผัสหน้าผาก ลำตัว หรือบริเวณอื่นก็พอรู้สึกได้คร่าวๆ อาการไข้ที่ควรส่งโรงพยาบาล อาการไข้ ที่เกิดร่วมกับอาการต่อไปนี้จัดเป็นอาการที่เป็นอันตราย ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว คือ 1. ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว 2. คอแข็ง ก้มไม่ลง หรือทารกที่มีอาการกระหม่อมโป่งตึง 3. ขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ค่อยขึ้น 4. กลัวน้ำ 5. ชัก 6. หอบหรือเจ็บหน้าอกรุนแรง 7. ผิวหนังซีดหรือเป็นสีเหลือง หรือมีจุดแดง หรือจ้ำเขียวตามตัว ปวดตามข้อหรือบวม 8. ปวดสีข้าง ปัสสาวะขุ่น สมุนไพรลดไข้ส่วนใหญ่ จะมีฤทธิ์ลดไข้อย่างเดียว ไม่มีฤทธิ์แก้ปวดควบคู่เหมือนยาแผนปัจจุบัน และพบว่าสมุนไพรจำพวกนี้มักจะมีรสขมรับประทานยาก ทั้งวิธีใช้ส่วนใหญ่เป็นวิธีต้ม ไม่มีการกลบกลิ่น รส แต่อย่างไรก็ดี รสขมนี้สามารถทำให้การหลั่งน้ำลายเพิ่มขึ้น กระตุ้นให้อยากอาหาร มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยซึ่งต้องการสารอาหารเพิ่มเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงเช่นเดิม สมุนไพรแก้ไข้ควรนำมาใช้กับอาการไข้ปานกลางหรือต่ำ และมีข้อควรระวัง ดังนี้ คือ 1. เป็นอาการไข้ที่ไม่นานเกิน 7 วัน 2. ไม่มีอาการร่วมกับไข้ที่รุนแรง เช่น หนาวสั่นมาก ปวดศีรษะรุนแรง เจ็บหน้าอก หรือปวดท้องรุนแรง 3. ไข้ที่เกิดจากการอักเสบที่ผิวหนัง เช่น แผลผุพอง ฝี นอกจากใช้ยาแก้ไข้ ให้ใช้ยาฆ่าเชื้อ พร้อมกับการทำความสะอาดแผลหรือผ่าฝี เพื่อรักษาสาเหตุ 4. ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ขวบ เพราะเด็กมีความทนต่อยาต่ำกว่าผู้ใหญ่ 5. ถ้าใช้สมุนไพรแก้ไข้นาน 3-4 วัน อาการคงเดิมหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง ควรเปลี่ยนวิธีการรักษา
สมุนไพรลดไข้ ได้แก่บอระเพ็ด ใช้เถาสดครั้งละ 2 คืบครึ่ง หรือ 30-40 กรัม ตำคั้นเฉพาะน้ำหรือต้มกับน้ำ 3 ส่วนเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มจนหมด วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและเย็น หรือดื่มเมื่อมีอาการ
ชิงช้าชาลี ใช้เถาสดยาว 2 นิ้วต่อครั้ง ต้มน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มก่อนอาหาร วันละ 1-2 ครั้ง หรือเมื่อมีอาการ
ย่านาง ใช้รากแห้งครั้งละ 1 กำมือ (15 กรัม) ต้มน้ำดื่มก่อนอาหาร วันละ 3 ครั้ง
ลักกะจั่น ใช้แก่นที่มีสีแดงหรือที่เรียกว่า จันทน์แดง ประมาณ 5-10 ชิ้น (แต่ละชิ้นกว้างยาวประมาณ 2*3 นิ้ว) สับให้มีขนาดเล็กพอประมาณ ต้มกับน้ำ 6 ถ้วย เคี่ยวให้เหลือ 4 ถ้วย แบ่งดื่มครั้งละครึ่งถ้วยเมื่อมีไข้ หรือใช้ยาประสะจันทน์แดงชนิดผง ละลายน้ำสุกครั้งละ 1 ช้อนกาแฟ
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น