สมุนไพรรักษาโรค

FarmSatoshi Enjoy Free Satoshi! เล่นเกมได้เงินจริงๆ เกมส์เลี้ยงสัตว์รับ Bitcoin ครับ เลือกจ่ายทาง XAPO ถอนแล้วเข้าทันทีครับ หรือ กระเป๋า BTC เว็บนี้สุดยอดมากๆเลยครับถ้าเล่นเลเวลสุงๆได้เยอะขึ้นเรื่อยๆ


1..สมุนไพรรักษาโรคผิวหนังอักเสบจากสิว




     สิวเป็นโรคเรื้อรัง พบบ่อยมากเป็นอันดับต้นๆ ของปัญหาโรคผิวหนัง มักเป็นในวัยรุ่น แต่บางครั้งเลยวัยรุ่นไปแล้วก็อาจเป็นได้ ลักษณะที่บ่งบอกว่าเป็นสิวคือ เป็นเม็ดสิวอุดตันที่เรียกกันว่า คอมมิโดน ถ้าเป็นเม็ดนูนเล็กๆ ไม่มีรูเปิดเรียก สิวหัวขาว ถ้ามีรูเปิดที่ผิวหนังมองเห็นเป็นจุดดำอยู่ตรงกลางเรียกสิวหัวดำ นอกจากนี้อาจเกิดเป็นตุ่มนูนเล็กๆ แดงๆ อาจเห็นเป็นตุ่มหนอง ,หรือตุ่มนูนแข็งเม็ดโต หรือตุ่มแดงอักเสบแบบถุงซีสต์ที่เรียกกันว่า สิวหัวช้าง สิวที่สร้างความวิตกมากคือ สิวบริเวณใบหน้า ซึ่งเป็นบริเวณที่พบบ่อย ในบางรายอาจเกิดบริเวณ คอ , หลัง, อก, สาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ฮอร์โมนเพศ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ต่อมไขมันโตเต็มที่ผลิตน้ำมันมากขึ้น ท่อของต่อมไขมันหนาตัวมีการอุดตัน น้ำมันระบายออกไม่ได้คั่งค้างอยู่ภายใน เชื้อแบคทีเรียที่อยู่บริเวณนี้แบ่งตัวเพิ่มขึ้น ย่อยสลายไขมันทำให้เกิดความระคายเคือง และท่อต่อมไขมันแตกออก กรดไขมันออกสู่บริเวณข้างเคียงเกิดเป็นสิวอักเสบขึ้น ความรุนแรงของสิวแต่ละคนแตกต่างกันไป บางรายเป็นมากบางรายเป็นน้อย สิวอักเสบอาจกำเริบได้ในช่วงมีความเครียด เช่น อดนอน หรือในผู้หญิงช่วงใกล้มีประจำเดือน นอกจากนี้การบีบแกะสิว จะกระทบกระเทือนและนำเชื้อโรคเกิดการอักเสบมากขึ้น และมีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นเมื่อสิวหายแล้ว
สิวแบ่งเป็น 2 ชนิด
1.สิวไม่อักเสบเกิดจากการอุดตันของต่อมไขมัน (COMEDONE) แบ่งเป็น 2 ชนิด
1.1 สิวหัวปิด เห็นเป็นตุ่มเล็ก ๆ หัวขาว ๆ
1.2 สิวหัวเปิด หรือสิวหัวดำ
2.สิวอักเสบ คือสิวที่หัวแดง ๆ หรือ เป็นหนอง พวกนี้ก็คือ (COMEDONE) ที่มีการติดเชื้อ(BACTERIA)  แทรกซ้อน
ดังนั้น ถ้าเป็นสิวอักเสบ การทำความสะอาด ใบหน้าด้วยสบู่อ่อน ๆ และการป้องกันไม่ให้มีการอุดตันที่รูขุมขน
(COMEDONE) โดยการใช้น้ำเปล่าล้างหน้าในตอนกลางวัน ก็พอจะช่วยให้สิวลดลงหรือป้องกันไม่ให้สิวใหม่เกิดขึ้น
แต่ถ้าเป็นสิวอักเสบ คงต้องปรึกษาแพทย์ เพราะต้องใช้ปฏิชีวนะ (กินหรือทาแล้วแต่ความรุนแรงของสิว)
สิวอักเสบควรจะต้องรีบรักษา ถ้าไปแกะหรือบีบหนองออก จะเป็นรอยแผลเป็น บุ๋มตลอดไป รักษายากมาก
การนอนดึกทำให้สิวเพิ่มขึ้น ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นสิวอักเสบ อาจเป็นเพราะ
               1.ร่างกายอ่อนแอ เชื้อ Becteria ในสิวทำให้มีการอักเสบมากขึ้น
               2.Hormone เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะใน ผู้หญิง ตัวอย่างเช่น บางคนประจำเดือน หรือขณะตั้งครรภ์
                          จะมีสิวเพิ่มขึ้น
สมุนไพรที่ใช้รักษาสิวได้แก่
ว่านหางจรเข้ 
ล้างหน้าเช็ดให้แห้งด้วยผ้าสะอาด ใช้วุ้นจากใบสดทาบริเวณที่มีอาการ วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ปล่อยให้แห้งโดยไม่ต้องล้างออก
     ข้อควรระวัง ต้องล้างยางสีเหลืองจากขอบใบออกให้หมดก่อนใช้ เนื่องจากมีฤทธิ์ระคายเคืองมาก อาจทำให้เกิดการแพ้ สำหรับผู้ที่ผิวแพ้ง่าย อาจทดลองทาวุ้นบริเวณท้องแขนดูก่อน หากมีผื่นแดงหรือคันไม่ควรใช้ทาหน้า



2..สมุนไพรรักษาโรคผิวหนังอักเสบจากหิด เหา โลน 




     หิด
     เป็นตัวไรขนาดเล็กมาก อาศัยอยู่ในผิวหนังชั้นนอกของร่างกาย 
จะทำให้เกิดเป็นตุ่มน้ำใสและคันมากโดยเฉพาะในเวลากลางคืน มักเกิดบริเวณที่เป็นซอก เช่น ซอกระหว่างนิ้วมือ นิ้วเท้า หรือข้อพับ อาจมองเห็นเป็นรอยคดเคี้ยวสีแดงใต้ผิวหนัง เนื่องจากการไชของตัวหืด การเกาบริเวณที่เป็นมากๆจะทำให้ผิวหนังอักเสบ เป็นหนองหรือ

แผลพุพองได้ หิดติดต่อกันได้โดยการสัมผัส และการใช้สิ่งของร่วมกัน มักพบว่าเป็นพร้อมๆกันหลายคนในบ้าน
     เหา โลน
     เป็นแมลงตัวเล็กๆที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีขนหรือผม เหา โลน มีลักษณะคล้ายกัน เหาจะอาศัยอยู่เฉพาะที่บริเวณหนังศีรษะและโคนเส้นผม ส่วนโลนมักอาศัยอยู่บริเวณหัวเหน่า และอาจพบได้ที่ทวารหนัก หน้าท้อง รักแร้ หนวด หรือแม้แต่ขนคิ้ว เหาและโลนจะทำให้ผู้ที่เป็นคันบริเวณที่เป็นมาก บางครั้งเกาจนเกิดผิวหนังอักเสบหรือติดเชื้อแบคทีเรียเป็นหนองได้ ถ้าเป็นในเด็กอาจทำให้ไม่มีสมาธิในเารเรียน นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัส เล่น คลุกคลีกับผู้ที่เป็น ซึ่งมักพบว่าเป็นกันทั้งโรงเรียนหรือครอบครัว ส่วนโลนมักติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็น การรักษาควรรักษาพร้อมๆกันทุกคนเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก     
สมุนไพรที่กำจัดหิด เหา โลน ได้แก่
น้อยหน่า ใช้เมล็ดประมาณ 10 เมล็ด หรือใบสดประมาณ 1 กำมือ (15 กรัม) ตำให้ละเอียดผสมกับน้ำมันมะพร้าวในอัตราส่วน 1:2 ขยี้ให้ทั่วศีรษะ ใช้ผ้าคลุมโพกไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง ใช้หวีสางเหาออก สระผมให้สะอาด
     ข้อควรระวัง อย่าให้เข้าตา เพราะจะทำให้ตาอักเสบได้



3..สมุนไพรรักษาโรคผิวหนังจากเชื้อไวรัส





     เชื้อไวรัสหลายชนิดสามารถทำให้เกิดอาการทางผิวหนังขึ้นได้ เช่น เริม วูสวัด หูด อีสุกอีใส รวมทั้งผื่นจากหัด หัดเยอรมัน เป็นต้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่สามารถใช้สมุนไพรรักษาในลักษณะของยาภายนอก ซึ่งได้แก่ เริม งูสวัดและหูด
     เริม     เป็นโรคจากเชื้อไวรัสที่พบได้ค่อนข้างบ่อยโรคหนึ่ง มักเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงวัยรุ่น อาการจะเริ่มด้วยการมีตุ่มน้ำเล็กๆขึ้นเป็นกลุ่ม ผิวหนังรอบๆ จะมีสีแดงและมีอาการปวดแสบปวดร้อนมาก ต่อมาตุ่มจะกลายเป็นสีเหลืองขุ่นและแตกตกสะเก็ดหายเองได้ใน 1-2 สัปดาห์ มักพบขึ้นบริเวณริมฝีปาก แก้ม และบริเวณอวัยวะเพศ หลังจากเป็นครั้งแรก แล้วมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้บ่อยโดยเฉพาะเมื่อร่างกายอ่อนแอ เช่น เมื่อมีไข้ โดนแดดจัด เครียด หรือขณะมีประจำเดือน โรคนี้สามารถติดต่อกันได้จากการสัมผัส และการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคบริเวณอวัยวะเพศ
     งูสวัด    เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับทีทำให้เกิดอีสุกอีใส อาการมักเริ่มต้นด้วยการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มีไข้ ต่อจากนั้นจะเริ่มรู้สึกปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณที่จะแสดงอาการ ตามด้วยการมีผื่นสีแดงและกลายเป็นตุ่มใสขึ้นเป็นแนวยาวไปตามเส้นประสาทมักเกิดเพียงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย หลังจากนั้นตุ่มจะแตก ค่อยๆแห้งและตกสะเก็ด หายได้เองใน 2-3 สัปดาห์ อาการของงูสวัดมักรุนแรงมากขึ้นตามอายุของผู้ที่เป็น และมักไม่กลับมาเป็นว้ำอีก บางรายเมื่อแผลหายแล้วอาจเกิดเป็นแผลเป็นชนิดนูน หรืออาจมีอาการปวดแสบปวดร้อน หรือปวดแปลบบริเวณที่เคยมีอาการต่อไปอีกนานหลายเดือน
     หูด     เกิดจากเชื้อไวรัส Human papilloma หลายชนิด ทำให้เกิดเนื้องอกที่ผิวหนังในลักษณะต่างๆกัน เช่น อาจเป็นหูดราบ หูดนูนธรรมดา หูดหงอนไก่ ฯลฯ มักเกิดที่ข้อศอก หัวเข่า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือบริเวณอวัยวะเพศ หูดกระจายไปติดบริเวณอื่น หรือติดคนอื่นได้จากการแกะ เกา หรือสัมผัสกับผู้ที่เป็น หูดมักไม่ทำให้เกิดอันตรายใดๆ นอกจากทำให้น่าเกลียด น่ารำคาญ สามารถหายเองได้ใน 1-2 ปี และกลับมาเป็นซ้ำได้
     
     สมุนไพรที่ใช้รักษาเริม ได้แก่
พญาปล้องทอง ใช้ใบสดล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดคั้นเอาเฉพาะน้ำ ทาบริเวณที่มีอาการเริม งูสวัด
ว่านหางจรเข้ ใช้วุ้นสดจากใบ (มีวิธีการนำมาใช้เช่นเดียวกับการใช้รักษาแผล) ใส่ลงบนบริเวณที่มีอาการให้ชุ่มอยู่เสมอ


     สมุนไพรที่ใช้กัดหูด ได้แก่
พญาไร้ใบ ใช้ยางแต้มบริเวณที่เป็นหูด วันละ 2-3 ครั้ง จะช่วยกัดหูดให้หลุดออก ไม่ควรให้สัมผัสผิวหนังปกติ โดยอาจใช้วาสลินทากันรอบๆบริเวณที่ป้ายยา






4..สมุนไพรรักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา










     โดยปกติผิวหนังของคนเราจะมีสภาพเป็นกรดเล็กน้อยทำให้เชื้อราส่วนใหญ่ไม่สามารถเจริญขึ้นได้แต่ในบางภาวะ เช่น เมื่อผิวหนังอับชื้นหรือเมื่อร่างกายอ่อนแอ เครียด เจ็บป่วยเรื้อรังหรือได้รับยาบางชนิด ภูมิต้านทานร่างกายจะลดลง อาจทำให้เชื้อราบางชนิดทำให้เกิดโรคที่ผิวหนังขึ้นได้ โรคจากเชื้อราส่วนใหญ่ ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาติดต่อกันเป็นเวลานาน และมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ง่าย ดังงนั้นการดูแลรักษาต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ โรคเชื้อราบางชนิดไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยสมุนไพร เช่น เชื้อราที่เล็บ การใช้สมุนไพรบางชนิดตำ พอก อาจทำให้เกิดการอับชื้น เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อรามากยิ่งขึ้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงโรคผิวหนังจากเชื้อที่พบบ่อยและสามารถใช้สมุนไพรในการรักษาได้ผลดังนี้
  เกลื้อน      เกลื้อนเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยที่สุดโดรคหนึ่ง เกิดจากเชื้อ Malassezia furfur ทำให้ผิวหนังเกิดเป็นวงเล็กๆสีขาวหรืออาจพบเป็นสีน้ำตาลหรือสีแดงได้บ้าง ไม่ทำให้ร่างกายมีอาการผิดปกติใดๆ อาจมีอาการคันได้บ้างเล็กน้อย เป็นโรคที่ใช้เวลาในการรักษานาน และร้อยละ 60-80 มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้อีกภายในเวลา 1 ปี การทายาเป็นประจำก็ไม่สามารถป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำได้
     กลาก     เป็นโรคผิวหนังจากเชื้อราที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในผู้ที่มีสุขอนามัยไม่ดีหรือมีเหงื่อออกมาก อับชื้น นอกจากนี้ยังพบในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานร่างกายต่ำ เช่น ในผู้ป่วยเบาหวาน ในผู้ติดเชื้อเอดส์หรือผู้ที่รับประทานยาบางชนิดอยู่ เช่น ยารักษามะเร็ง เชื้อราที่มีสาเหตุของกลากมีหลายชนิดในสกุล Microsporum, Epidermophyton และ Trichophyton เชื้อเหล่านี้ทำให้เกิดโรคบริเวณผิวหนังได้หลายแห่ง ถ้าเกิดที่ผิวหนังทั่วไป จะทำให้มีลักษณะเป็นวงมีขอบนูนชัดเจน ขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ผิวหนังตรงกลางวงหักร่วงเป็นหย่อมๆ เห็นเป็นวงขอบชัดเจนที่หนังศีรษะ บางครั้งมีน้ำเหลืองเกรอะกรัง ถ้าเกิดบริเวณขาหนีบมักเรียกว่าสังคัง เกิดที่เท้าเรียกฉ่องกงฟุต หรืออาจเกิดที่เล็บมือ เล็บเท้าได้ กลากสามารถติดต่อกันได้ง่ายจากการใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ที่เป็น หรือติดจากร้านตัดผม หากเกิดที่ผิวหนังทั่วไปสามารถรักษาให้หายได้ไม่ยากนักแต่ต้องใช้เวลาในการรักษานาน สมุนไพรหลายชนิดใช้รักษากลากได้ดี ส่วนกลากที่เล็บรักษาได้ยาก มาก การรักษาที่ได้ผลดีควรใช้ยารับประทาน การใช้สมุนไพรตำพอกเชื้อราที่เล็บจะทำให้ผิวหนังอับชื้นและเชื้อราลุกลามเร็วยิ่งขึ้น

 สมุนไพรที่ใช้รักษากลากเกลื้อน ได้แก่
กระเทียม ใช้กลีบกระเทียมฝานเป็นชิ้นบางๆหรือตำ ทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อน วันละ 2 ครั้ง หลังจากหายแล้วให้ทายาต่อไปอีก 7-10 วัน
ชุมเห็ดเทศ ใช้ใบสดโดยตำแช่เหล้าไว้ประมาณ 3-5 วัน หมั่นคนยาที่แช่ไว้บ่อยๆ เอาส่วนเหล้าทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อน วันละ 2-3 ครั้งจนกว่าจะหาย หรือใช้ใบสดตำให้ละเอียดทาบริเวณที่มีอาการ
ข่า ใช้เหง้าสด ตำผสมกับเหล้าโรงใช้ทารักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน
ทองพันชั่ง ใช้ใบสดและรากโขลกละเอียด แช่เหล้าโรง 1 สัปดาห์ เอาน้ำเหล้าทาบริเวณที่มีอาการกลาก เกลื้อน วันละ 2-3 ครั้ง
มะคำดีควาย ใช้ผลทุบให้แตกแช่น้ำ หรือต้มกับน้ำแล้วนำน้ำที่ได้มาสระผม แก้รังแค แก้ชันตุ และสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคกลากได้ดี


5..สมุนไพรรักษาแผลอักเสบเรื้อรัง










     เมื่อผิวหนังเกิดบาดแผลหรือเกิดการระคายเคืองคันจากการแพ้ แมลงกัดต่อยหรือสาเหตุอื่นๆ หากไม่ได้มีการดูแลรักษาความสะอาดให้ดีพอ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในบริเวณนั้นกลลายเป็นแผลเรื้อรัง เชื้อที่เป็นสาเหตุได้แก่ Staphylococus และ Beta Streptococcus โดยจะพบว่าบริเวณนั้นจะมีหนอง หรือน้ำเหลืองปนหนองไหลเยิ้ม อาจพบเป็นตุ่มหนองแล้วอตก ต่อมาจะแห้งเป็นสะเก็ดสีน้ำตาล บางครั้งทำให้มีไข้หรือมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงโตได้ นอกจากนี้การติดเชื้ออาจเกิดบริเวณต่อมไขมันและขุมขน ทำให้เกิดเป็นฝี มีสมุนไพรหลายชนิดที่สามารถนำมาใช้ในการทำความสะอาดแผลและช่วยให้บาดแผลหายได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตามการดูแลรักษาแผลเรื้อรังที่เกิดอาการอักเสบติดเชื้อยังขึ้นกับขนาดและบริเวณที่มีอาการด้วย หากเกิดเป็นบริเวณกว้างและอยู่ในบริเวณที่รักษาให้หายได้ยาก เช่น ที่ข้อพับหรือบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวหรือเสียดสีอยู่เสมอ หรือในผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ควรต้องดูแลเป็นพิเศษ หรือต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดการลุกลามจนติดเชื้อในกระแสเลือด มีอันตรายถึงชีวิต
     สมุนไพรที่ใช้สำหรับแผลเรื้อรังได้แก่
ว่านหางจระเข้ ให้เลือกใบล่างสุดของต้นมาใช้ก่อน ล้างน้ำให้สะอาด ปอกเปลือกสีเขียวและล้างน้ำยางสีเหลืองออกให้หมด เพราะอาจระคายเคืองผิวหนังและทำให้มีอาการแพ้ได้ ฝานวุ้นที่ได้เป็นแผ่นบางปิดแผลหรือขูดเอาวุ้นใสปิดพอกรักษาแผลเรื้อรัง แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก อาจใช้ผ้าพันแผลที่สะอาด พันทับเปลี่ยนวุ้นใหม่วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น จนกว่าแผลจะหาย
ขมิ้นชัน ใช้เหง้ารักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง โดยทำเป็นผงผสมน้ำมันมะพร้าวทาบริเวณที่เป็นแผล หรือใช้เหง้าสดล้างให้สะอาด ฝนน้ำข้นๆทา
บัวบก ใช้ใบสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด ตำละเอียดคั้นเอาน้ำทาบริเวณแผลบ่อยๆ แผลจะสนิทเร็ว
กะเม็ง ใช้ต้นสด ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำทารักษาอาการผื่นคัน มีหนอง ป้องกันมือและเท้าเน่าเปื่อยจากการลุยน้ำสกปรก
ว่านหางช้าง ใช้เหง้าสดหรือแห้ง ต้มน้ำในอัตราส่วน 1:20 เติมเกลือเล็กน้อย ใช้ชะล้างบาดแผลเรื้อรัง เช้า-เย็น แก้อาการผื่นคัน อักเสบมีหนองได้ผลดี
มังคุดใช้เปลือกผลสดหรือแห้ง 1-2 ผล สับเป็นชิ้นเล็กๆต้มกับน้ำ 1 ลิตร ให้เดือดประมาณ 15 นาที เติมเกลือประมาณ 1 ช้อนชา ใช้ชะล้างบาดแผลเรื้อรัง แผลมีหนอง
เหงือกปลาหมอดอกขาวและเหงือกปลาหมอดอกม่วง ใช้ต้นสดหรือแห้งทั้งต้น ต้มน้ำอาบ หรือชะล้างแผลเรื้อรัง ผื่นคันตามร่างกาย
น้ำผึ้ง ใช้น้ำผึ้งอุ่นด้วยไฟอ่อนๆจนเดือดทิ้งไว้ให้เย็น ใส่ลงบนแผลเรื้อรังให้ชุ่มอยู่ตลอดเวลา โดยใช้ผ้าพันแผลไว้แล้วหยดน้ำผึ้งลงบนผ้าพันแผลให้ชุ่มอยู่เสมอ หากไม่มีน้ำผึ้งสามารถใช้น้ำเชื่อมข้นๆแทน โดยใช้น้ำตาล 1 ส่วน ละลายน้ำ 1 ส่วน ตั้งไฟอ่อนๆจนน้ำเชื่อมเดือด ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำมาใช้ในลักษณะเดียวกันกับน้ำผึ้ง



6..สมุนไพรรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก 








การเกิดบาดแผล ถูกน้ำร้อนลวก หรือไฟไหม้ จะทำให้ผิวหนังถูกทำลาย พองหรือหลุดออกไป อันตรายของอุบัติเหตุเหล่านี้ขึ้นอยู่กับขนาดของแผล ตำแหน่งของบริเวณที่เป็น ความรุนแรงที่ไดรับ รวมทั้งวิธีการปฐมพยาบาลและดูแลรักษา การที่ผิวหนังฉีกขาดหรือหลุดลอกออกไป ทำให้เสียเลือดได้มากและบริเวณที่เปิดมีโอกาสสัมผัสและรับเอาเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ทำให้เกิดการติดเชื้อและเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆได้ง่าย การปฐมพยาบาล ถ้าบาดแผลสกปรกควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือ หากมีเลือดไหลควรรีบทำการห้ามเลือด มีพืชสมุนไพรหลายชนิดที่ใช้ได้ผลในการรักษาบาดแผลและแผลจากน้ำร้อนลวก ไฟไหม้ได้ผลดี แต่เนื่องจากรูปแบบของการใช้สมุนไพรส่วนใหญ่มักเป็นการใช้สมุนไพรสดหรือแห้งตำพอก หรือฝนน้ำทา หากไม่รักษาความสะอาดให้ดีพอจะทำให้บริเวณบาดแผลมีโอกาสเกิดการติดเชื้อโรคได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้นควรต้องระวังเรื่องความสะอาดให้มาก ถ้าเป้นไปได้ควรเลือกสมุนไพรที่ผ่านวิธีต้ม หรือผ่านความร้อนมาก่อนจะช่วยทำลายเชื้อโรคได้ระดับหนึ่ง สมุนไพรที่ใช้รักษาบาดแผล แผลจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ได้แก่ 
ว่านหางจรเข้ให้เลือกใบล่างสุดของต้นมาใช้ก่อน ล้างน้ำให้สะอาด ปอกเปลือกสีเขียวและล้างน้ำยางสีเหลืองออกให้หมด เพราะอาจระคายเคืองผิวหนัง และทำให้มีอาการแพ้ได้ ฝานเป็นแผ่นบางปิดแผล หรือขูดเอาวุ้นใส่ที่แผลแล้วใช้ผ้าพันแผลที่สะอาดพันทับ เปลี่ยนวุ้นใหม่วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น จนกว่าแผลจะหาย
บัวบก ใช้ใบสดปริมาณพอเหมาะกับขนาดของแผล ล้างให้สะอาด ตำคั้นเอาน้ำทาบริเวณแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ใช้กากพอกด้วยก็ได้ แผลจะสนิทจะเกิดแผลเป็นชนิดนูนน้อยลง
สาบเสือ ใช้ใบสดล้างสะอาด ตำให้ละเอียดพอกปากแผล หรือขยี้ปิดปากแผล อาจใช้มือกดหรือใช้ผ้าพันแผลพัน จะช่วยห้ามเลือดให้หยุดไหลได้เร็วขึ้น




7..สมุนไพรรักษาการอักเสบจากพิษของแมลง สัตว์กัดต่อย และพืชพิษ







อาการอักเสบ บวมแดง คัน หรืออาการอื่นๆที่เกิดจากแมลงสัตว์กัดต่อย หรือสัมผัสพืชพิษ เกิดจาสารพิษจากสัตว์หรือพืชนั้นทำปฏิกิริยากับร่างกาย พืชบางชนิดทำให้เกิดอาการที่รุนแรงมากจนอาจทำให้เสียชีวิต ดังนั้นการรักษาจึงขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่เกิดขึ้น สมุนไพรที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ใช้ได้ดีกับการได้รับพิษระดับที่ทำให้เกิดอาการอักเสบ บวม แดงคัน เฉพาะบริเวณผิวหนังเท่านั้น ไม่มีการบวมของหลอดลมหรืออาการที่รุนแรงอื่นๆ
สมุนไพรที่ใช้รักษาการอักเสบจากพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย และพืชพิษได้แก่
พญาปล้องทอง ใช้ใบสด5-10 ใบ ล้างให้สะอาด ตำหรือขยี้ทา ใช้ทารักษาอาการอักเสบแมลงกัดต่อย ผื่นคัน
ชองระอา (พิมเสนต้นหรือเสลดพังพอนตัวผู้) ใช้ใบตำละเอียดผสมเหล้า พอกหรือทา ถอนพิษอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย รากฝนกับเหล้าทาถอนพิษตะขาบ
ว่านมหากาฬ ใช้รากและใบสด ล้างให้สะอาด ตำพอกแก้ปวดบวมจากมดแมลงกัดต่อย ถอนพิษ ปวดแสบปวดร้อน




8..สมุนไพรแก้โรคหืด






หอบหืด เป็นโรคที่พบได้จากเด็กและผู้ใหญ่ ถือว่าเป็นโรคภูมิแพ้อย่างหนึ่ง และอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ได้อีกด้วย เมื่อมีอาการหลอมลมจะเกร็งตีบแคบลง ทำให้แน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีเสียงวี้ดขณะหายใจและมีเสมหะเหนียว มักมีอาการตอนกลางคืน เมื่อสัมผัสกับสิ่งที่เป็นสาเหตุของการแพ้ ถ้ารุนแรงมากอาจทำให้เสียชีวิตได้
 การรักษา ขึ้นกับความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยควรมียาพ่นขยายหลอมลมประจำตัว ไม่ควรซื้อยาชุดหรือยาลูกกลอนสำเร็จรูปมารับประทานเอง เนื่องจากพบเสมอว่ามีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยาที่มีอันตรายสูงมาก สมุนไพรที่แนะนำให้ใช้ คือ ไพล อย่างไรก็ตามควรใช้ควบคู่กับการใช้ยาแผนปัจจุบัน จะช่วยลดความถี่ของการใช้ยาแผนปัจจุบันลงได้ และผู้ป่วยควรพยายามหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ด้วย
 ไพล
ส่วนที่ใช้ เหง้าสดที่แก่จัด ควรเก็บเหง้าในหน้าแล้งขณะที่ต้นบนดินตาย
ขนาดและวิธีใช้ ใช้เหง้าไพลบดใส่แคปซูล




9..สมุนไพรแก้อาการเจ็บคอ





   
  เจ็บคอ เป็นอาการที่เกิดขึ้นบ่อยในคนทุกเพศ ทุกวัย มักเกิดร่วมกับอาหารหวัด แพ้อากาศ หรือไอเป็นเวลานาน ซึ่งต้องรักษาอาการอื่นๆพร้อมกันไปด้วย การเจ็บคอบางครั้งมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส อาจทำให้คอแดง มีเสมหะมาก สีเหลืองขุ่นหรือสีเหลืองปนเขียว ควรได้รับการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน สำหรับอาการเจ็บคอเล็กน้อย หรือเมื่อเริ่มมีอาการอาจเลือกใช้สมุนไพรก่อนในเบื้องต้น สมุนไพรที่ใช้บรรเทาอาการเจ็บคอได้ดี คือ
 ฟ้าทะลาย
ส่วนที่ใช้ ถ้าเก็บตอนเริ่มมีดอก จะใช้ทั้งต้นบนดิน แต่ถ้าต้นแก่จะใช้เฉพาะใบเท่านั้น ใช้ได้ทั้งใบสดและแห้งซึ่งมีรสขมจัด
ขนาดและวิธีใช้ บดเป็นผงปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8 ซม. กินครั้งละ 3-6 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหาร หรือใช้ใบสด 1-3 กำมือ ต้มน้ำดื่มก่อนอาหาร วันละ 3 ครั้ง






10..สมุนไพรรักษาอาการนอนไม่หลับ









ขี้เหล็กส่วนที่ใช้ ใบไม่แก่จัด และดอกตูม
ขนาดและวิธีใช้ ใช้ใบสด 50 กรัม หรือแห้ง 30 กรัม ใส่เหล้าขาวพอท่วมยาแช่ไว้ 7 วัน คนทุกวัน กรองเอากากออก ดื่มครั้งละ 1-2 ช้อนชา ก่อนนอน
ข้อควรระวัง
1. ไม่ควรต้ม เพราะจะทำให้สารที่ออกฤทธิ์สลายตัว
2. ก้ามใช้กับคนไข้ความดันโลหิตสูง
ชุมเห็ดไทย
ส่วนที่ใช้ เมล็ดแห้ง
ขนาดและวิธีใช้ 
เมล็ดแห้ง 1-3 ช้อนคาว (5-15 กรัม) คั่วจนเกรียมแล้วเติมน้ำ 1 ลิตร ต้มเคี่ยวจนเหลือ 600 มิลลิลิตร แบ่งดื่มครั้งละ 200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร






11..สมุนไพรแก้ไข้







     ร่างกายของคนเราจำเป็นต้องมีการปรับอุณหภูมิให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม 
ไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของอากาศภายนอก เพื่อให้การทำงานของร่างกายเป็นไปได้อย่างปกติ ศูนย์ที่ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมินี้อยู่ในสมองส่วนกลาง ซึ่งศูนย์นี้จะมีหน้าท่ควบคุมอุณหภูมิรับสัญญาณจากบริเวณต่างๆของร่างกาย และคอยควบคุมให้ร่างกายเก็บความร้อน สร้างความร้อนเพิ่มหรือลดความร้อนโดยถ่ายเทความออกไปมากขึ้น อุณหภูมิปกติของคนไม่ได้คงที่ตลอดเวลา มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในแต่ละช่วงของวัน โดยเฉพาะในช่วงค่ำ 18.00-20.00 น. อุณหภูมิมักสูงสุดและจะค่อยๆลดลงจนต่ำสุดในเวลาใกล้สว่าง 2.00-4.00 น. และจะเพิ่มสูงขึ้นอีกเช่นนี้ทุกวัน การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเช่นนี้สังเกตเห็นได้ชัดในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
    
ไข้ เป็อาการที่แสดงถึงความผิดปกติของร่างกาย หมายถึง สภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สบาย ผิวหนังร้อน โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก ลำตัว ซอกรักแร้และขาหนีบ เป็นต้น     ไข้จำแนกตามระดับอุณหภูมิได้เป็น 3 ระดับ คือ     ไข้ต่ำ อุณหภูมิร่างกายอยู่ระหว่าง 37.0 ํc - 38.9 ํc
     ไข้ปานกลาง อุณหภูมิร่างกายอยู่ระหว่าง 38.9 ํc - 39.5 ํc
     ไข้สูง อุณหภูมิร่างกายอยู่ระหว่าง 39.5 ํc - 40.0 ํc
     
สาเหตุของไข้มีมากมาย ดังนี้คือ
1. การติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และโปรโตซัว เช่น ไข้หวัด ไข้มาลาเรีย ไข้จากแผล ฝีหนอง
2. การกระตุ้นจากเหตุผิดปกติบางอย่างในร่างกายที่ไม่ใช่การติดเชื้อ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
3. ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิมิได้รับการกระทบกระเทือนจากความผิดปกติในสมองโดยตรง เช่น เนื้องอกในสมอง เส้นเลือดในสมองแตก
4. ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิมิได้รับการกระทบกระเทือนจากเหตุภายนอก เช่น การผ่าตัด การตื่นเต้นสุดขีด เป็นต้น
5. การแพ้ยาหรือเซรุ่ม เช่น ไข้ภายหลังการให้เลือด
6. เหตุอื่นๆ เช่น การออกกำลังกายกลางแดด เป็นต้น
     การวัดไข้โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า เทอร์โมมิเตอร์ จะช่วยจำแนกความหนักเบาของไข้ได้ง่ายขึ้น ถ้าไม่มีอุปกรณ์ให้ใช้หลังมือสัมผัสหน้าผาก ลำตัว หรือบริเวณอื่นก็พอรู้สึกได้คร่าวๆ
     อาการไข้ที่ควรส่งโรงพยาบาล
     อาการไข้ ที่เกิดร่วมกับอาการต่อไปนี้จัดเป็นอาการที่เป็นอันตราย ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว คือ
1. ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว
2. คอแข็ง ก้มไม่ลง หรือทารกที่มีอาการกระหม่อมโป่งตึง
3. ขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ค่อยขึ้น
4. กลัวน้ำ
5. ชัก
6. หอบหรือเจ็บหน้าอกรุนแรง
7. ผิวหนังซีดหรือเป็นสีเหลือง หรือมีจุดแดง หรือจ้ำเขียวตามตัว ปวดตามข้อหรือบวม
8. ปวดสีข้าง ปัสสาวะขุ่น
     สมุนไพรลดไข้ส่วนใหญ่ จะมีฤทธิ์ลดไข้อย่างเดียว ไม่มีฤทธิ์แก้ปวดควบคู่เหมือนยาแผนปัจจุบัน และพบว่าสมุนไพรจำพวกนี้มักจะมีรสขมรับประทานยาก ทั้งวิธีใช้ส่วนใหญ่เป็นวิธีต้ม ไม่มีการกลบกลิ่น รส แต่อย่างไรก็ดี รสขมนี้สามารถทำให้การหลั่งน้ำลายเพิ่มขึ้น กระตุ้นให้อยากอาหาร มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยซึ่งต้องการสารอาหารเพิ่มเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงเช่นเดิม
    
 สมุนไพรแก้ไข้ควรนำมาใช้กับอาการไข้ปานกลางหรือต่ำ และมีข้อควรระวัง ดังนี้ คือ
1. เป็นอาการไข้ที่ไม่นานเกิน 7 วัน
2. ไม่มีอาการร่วมกับไข้ที่รุนแรง เช่น หนาวสั่นมาก ปวดศีรษะรุนแรง เจ็บหน้าอก หรือปวดท้องรุนแรง
3. ไข้ที่เกิดจากการอักเสบที่ผิวหนัง เช่น แผลผุพอง ฝี นอกจากใช้ยาแก้ไข้ ให้ใช้ยาฆ่าเชื้อ พร้อมกับการทำความสะอาดแผลหรือผ่าฝี เพื่อรักษาสาเหตุ
4. ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ขวบ เพราะเด็กมีความทนต่อยาต่ำกว่าผู้ใหญ่
5. ถ้าใช้สมุนไพรแก้ไข้นาน 3-4 วัน อาการคงเดิมหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง ควรเปลี่ยนวิธีการรักษา   
 สมุนไพรลดไข้ ได้แก่บอระเพ็ด ใช้เถาสดครั้งละ 2 คืบครึ่ง หรือ 30-40 กรัม ตำคั้นเฉพาะน้ำหรือต้มกับน้ำ 3 ส่วนเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มจนหมด วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและเย็น หรือดื่มเมื่อมีอาการ
ชิงช้าชาลี ใช้เถาสดยาว 2 นิ้วต่อครั้ง ต้มน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มก่อนอาหาร วันละ 1-2 ครั้ง หรือเมื่อมีอาการ
ย่านาง ใช้รากแห้งครั้งละ 1 กำมือ (15 กรัม) ต้มน้ำดื่มก่อนอาหาร วันละ 3 ครั้ง
ลักกะจั่น ใช้แก่นที่มีสีแดงหรือที่เรียกว่า จันทน์แดง ประมาณ 5-10 ชิ้น (แต่ละชิ้นกว้างยาวประมาณ 2*3 นิ้ว) สับให้มีขนาดเล็กพอประมาณ ต้มกับน้ำ 6 ถ้วย เคี่ยวให้เหลือ 4 ถ้วย แบ่งดื่มครั้งละครึ่งถ้วยเมื่อมีไข้ หรือใช้ยาประสะจันทน์แดงชนิดผง ละลายน้ำสุกครั้งละ 1 ช้อนกาแฟ



                                                  12..สมุนไพรแก้ปวดฟัน








กานพลู
ส่วนที่ใช้ ช้ดอกตูมแห้งหรือน้ำมันกานพลู

สารสำคัญ น้ำมันหอมระเหยที่กลั่นจากดอกเรียกว่า น้ำมันกานพลู มีส่วนประกอบสำคัญเป็น eugenol ซึ่งเป็นยาชาเฉพาะที่
ขนาดและวิธีใช้ ใช้ดอกตูมแห้ง 5-8 ดอก บดเป็นผง เติมแอลกอฮอล์เล็กน้อย ชุบสำลี อุดรูฟันที่ปวด เมื่อหายปวดฟันแล้วต้องไปพบทันตแพทย์
ผักคราดหัวแหวน
ส่วนที่ใช้ ดอกช่อหรือทั้งต้น
สารสำคัญ มีสาร spilanthol ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ในดอกมีปริมาณสูงกว่าทั้งต้น
ขนาดและวิธีใช้ ใช้ดอกตำผสมเหล้าโรงเล็กน้อย ชุบสำลีอุดรูฟันที่ปว





                                                    13..สมุนไพรขับปัสสาวะ 





  

  

อาการขัดเบา     อาการปัสสาวะลำบาก จำนวนปัสสาวะแต่ละครั้งน้อย ปัสสาวะบ่อยหรือปวดแต่ปัสสาวะไม่ออก ในบางโรคมีอาการปวดท้องน้อย เสียงหรือปัสสาวะขุ่นขาวขุ่นแดงร่วมด้วย สาเหตุของอาการขัดเบามีมาก เช่น หนองใน หนองในเทียม กระเพาะปัสสาวะอักเสบ นิ่ว ต่อมลูกหมากโต หรือดื่มน้ำน้อย เป็นต้น      นิ่ว     ก้อนนิ่วแบ่งตามชนิดของสารเคมีที่มีหลายชนิด ที่พบมาก ได้แก่ นิ่งที่เกิดจากหินปูน นิ่วที่เกิดจากกรดยูริค ซึ่งพบว่า 75-85 % ของผู้ป่วยโรคนิ่วเป็นนิ่วหินปูน ขณะที่นิ่วกรดยูริคพบในผู้ป่วย 5-8 % เท่านั้น
    
 นิ่วหินปูน พบมากทางภาคเหนือและอีสาน ผู้ป่วยเป็นชายมากกว่าหญิง ช่วงอายุของผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 30-40 ปี สาเหตุเกิดจากน้ำที่ใช้ดื่มเป็นน้ำกระด้าง ทั้งปริมาณน้ำที่ดื่มในแต่ละวันน้อย กินอาหารที่มีแคลเซียมหรือออกซาเลตสูงเป็นประจำ ขาดสารฟอสเฟตซึ่งมีมากในอาหารพวกโปรตีนหรือต่อมพาราทัยรอยด์ทำงานมากเกินไป
    
 นิ่วกรดยูริค พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเช่นกัน ประมาณ 50 % ของผู้ป่วย เป็นโรคเก๊าท์หรือมีประวัติว่าคนในครอบครัวเคยเป็นโรคเก๊าท์
     ทั้งนิ่วหินปูนและนิ่วกรดยูริคเกิดขึ้นได้ทั้งในไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
                                               
 นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ มีอาการขัดเบา ปัสสาวะกระปริดกระปรอย ปวดเบ่งเหมือนยังถ่ายปัสสาวะไม่หมด 


บางครั้งปัสสาวะสะดุด และออกมาเป็นหยด อาจมีปัสสาวะขุ่นแดงหรือขุ่นขาว หรือพบว่ามีก้อนนิ่วหลุดออกมาพร้อมปัสสาวะ ถ้าก้อนนิ่วอุดตันในท่อปัสสาวะ จะทำให้ปวดท้องน้อยมาก ปัสสาวะไม่ออก ถ้าไม่รักษาอาจลุกลามต่อไปเป็นโรคกรวยไตอักเสบและไตวายได้
     
นิ่วในไต ไม่มีอาการขัดเบา แต่จะปวดท้องด้านใดด้านหนึ่งอย่างรุนแรง ปวดบิดเป็นพักๆและปวดร้าวไปที่หลัง ต้นขาด้านในด้านเดียวกับท้องน้อยที่ปวด ปัสสาวะใสหรือบางครั้งขุ่นแดงในกรณีนิ่วก้อนโตหลุดเองไม่ได้ ต้องผ่าตัด แต่ถ้าทิ้งไว้ไม่รักษาอาจทำให้มีอาการอักเสบของทางเดินปัสสาวะและไตวายได้เช่นกัน     ถ้าสงสัยว่าเป็นนิ่ว มีอาการปวดท้องดังกล่าว แต่ปวดไม่มาก ให้ดูแลตนเองก่อนดังนี้1. ดื่มน้ำมากๆ
2. ให้ถ่ายปัสสาวะลงกระโถน สังเกตว่าก้อนนิ่วหลุดมาหรือไม่ โดยเฉพาะนิ่วในไต อาการปวดท้องจะหายทันทีเมื่อนิ่วหลุด แต่อาจมีก้อนใหม่ทำให้ปวดใหม่ได้อีก
3. กินยาแก้ปวดประเภทคลายกล้ามเนือ้เรียบ ซึ่งควรซื้อจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำ
4. ถ้าอาการปวดมีมาก หรือกินยาแล้วไม่ทุเลาภายใน 6 ชั่วโมง หรือปวดซ้ำอีกควรส่งโรงพยาบาลทันที
     
การป้องกันนิ่ว
1. ดื่มน้ำวันละมากๆ ประมาณวันละ 3-4 ลิตร
2. กินอาหารประเภทโปรตีนในปริมาณพอควร ไม่น้อยจนเกินไป
3. สำหรับประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นที่มีอัตราในการเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะสูงหรือเคยเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ควรงดหรือลดการกินผักที่มีสารออกซาเลตสูง เช่น ผักแพว ผักโขม ช้าพลู ใบมันสำปะหลัง ผักเสม็ด หน่อไม้ ผักกระโดน
     
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
     เป็นภาวะที่มีการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ ส่วนมากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียวกับที่อยู่ในลำไส้ อาการที่พบจะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อยและถ่ายออกครั้งละน้อย ขัดเบา แสบ และเจ็บเสียวช่วงใกล้ปัสสาวะเสร็จ ปัสสาวะอาจขุ่นและเหม็น ถ้าเป็นมากปัสสาวะจะเป็นเลือด โรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะท่อปัสสาวะสั้น เชื้อผ่านเข้าง่าย สาเหตุเกิดจากการกลั้นปัสสาวะหรือเกิดหลังร่วมเพศ เป็นต้น โรคนี้มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงแต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ดี อาจลุกลามไปเป็นโรคกรวยไตอักเสบได้
     
การรักษา
1. ดื่มน้ำมากๆ
2. ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
      
การป้องกัน
1. ดื่มน้ำมากๆ
2. ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ
3. การอาบน้ำหรือทำความสะอาดร่างกายทุกครั้ง ควรทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศก่อนทางทวารหนัก
     
สมุนไพรขับปัสสาวะเป็นสมุนไพรที่ทำให้จำนวนน้ำที่ขับออกมาจากร่างกายเพิ่มขึ้นมักนำมาใช้กับอาหารที่ไม่รุนแรง ซึ่งเกิดจากสาเหตุดังนี้ คือ นิ่วขนาดเล็กในไตหรือท่อไต ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคจากแพทย์แผนปัจจุบันและไม่ต้องรักษาโดยวิธีผ่าตัด สมุนไพรขับปัสสาวะจะเพิ่มจำนวนปัสสาวะ ทำให้นิ่วขนาดเล็กหลุดออกมา อาจมีผลในการละลายก้อนนิ่วที่มีอยู่ได้บ้าง ฉะนั้นผู้ป่วยโรคนิ่วทางเดินปัสสาวะที่มีก้อนนิ่วขนาดใหญ่ โดยเฉพาะนิ่วที่อุดตันทางเดินปัสสาวะบริเวณใดบริเวณหนึ่งไว้ ไม่ควรใช้สมุนไพรขับปัสสาวะ เนื่องจากจำนวนปัสสาวะที่เพิ่มไม่สามารถผ่านส่วนที่อุดตันลงมาได้ ในทางตรงกันข้ามจะทำให้แรงดันในไตหรือทางเดินปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น อาการปวดจะเพิ่มขึ้นและอาจเกิดอันตรายได้ ส่วนอาการขัดเบาที่เกิดจากเนื้อไตอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ติดเชื้อกามโรคบางชนิด เช่น หนองใน ไม่จำเป็นต้องใช้สมุนไพรจำพวกนี้ ควรรักษาที่สาเหตุคือ ใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าเชื้อ สมุนไพรขับปัสสาวะส่วนใหญ่ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ ข้อควรระวังสำหรับการใช้สมุนไพรขับปัสสาวะ คือ สมุนไพรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักมีเกลือโปตัสเซียมหรือโซเดียมค่อนข้างสูง จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจและสตรีมีครรภ์

   
  สมุนไพรในกลุ่มนี้ ได้แก่กระเจี๊ยบ
 ใช้ผงกระเจี๊ยบครั้งละ 1 ช้อนชา ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร) รินเฉพาะส่วนใส ดื่มจนหมดวันละ 3 ครั้ง
     ข้อควรระวัง 
น้ำกระเจี๊ยบมีฤทธิ์ระบาย อาจทำให้ผู้ที่ดื่มน้ำกระเจี๊ยบมีอาการท้องเสียได้เล็กน้อย
ขลู่ ใช้ต้นสดหรือแห้งทั้งต้น วันละ 1 กำมือ (สด หนักประมาณ 40-50 กรัม ถ้าแห้งหนักประมาณ 15-20 กรัม) ต้มกับน้ำ แบ่งดื่มก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร) วันละ 3 ครั้ง
ชุมเห็ดไทย เมล็ดชุมเห็ดไทยมีสารกลุ่มแอนทราควิโนน ซึ่งมีฤทธิ์ระบาย แม้ขนาดที่ใช้เป็นยาขับปัสสาวะจะน้อยกว่าขนาดที่ใช้เป็นยาระบาย พบว่าบางคนอาจมีอาการท้องเสียร่วมกับฤทธิ์ขับปัสสาวะได้
ตะไคร้ ใช้ต้นสด วันละ 1 กำมือ หหรือหนัก 40-60 กรัม ต้มกับน้ำ 3-4 ถ้วยชา แบ่งดื่มวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ถ้วยชา (75มิลลิลิตร) ก่อนอาหาร หรือใช้เหง้า ฝ่าเป็นแว่นบางๆ คั่วไฟอ่อนพอเหลือง ครั้งละ 1 หยิบมือ ชงกับน้ำ 1 ถ้วยชา รินเฉพาะส่วนใสดื่มจนหมด วันละ 3 ครั้ง เมื่อปัสสาวะคล่องให้หยุดยา
หญ้าคา ใช้รากและเหง้าสดหรือแห้ง วันละ 1 กำมือ (พืชสดหนัก 40-50 กรัม พืชแห้งหนัก 10-15 กรัม) ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว (250 มิลลิลิตร) แบ่งดื่มวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร)
หญ้าหนวดแมว ใช้ใบและก้านแห้ง ครั้งละ 1 หยิบมือ (4-5 กรัม) ต้มกับน้ำ 1 ขวดน้ำปลา (750 มิลิลิตร) โดยต้มน้ำให้เดือด ใส้หญ้าหนวดแมวแล้วยกหม้อลงจากเตา ปิดฝาหม้อทิ้งไว้ 15-20 นาที รินเฉพาะส่วนใสดื่ม
     
ข้อควรระวัง
1. ในการปรุงยา ไม่ควรต้มเคี่ยว จะทำให้กลิ่น รส ไม่ดี ถ้าต้มข้นเกินไปจะมีรสขม ทั้งยังทำให้ผุ้ดื่มได้รับยามากกว่าปกติ อาจมีอาการมึนงง คลื่นไส้ เหนื่อย หายใจผิดปกติ ชีพจรเต้นผิดปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจควรระวังให้มากกว่าเป็นพิเศษ
2. อาจใช้ใบหรือต้นสดต้มกินก็ได้ แต่รสชาติจะเหม็นเขียว จะมีรายงานว่าผู้ที่เคยใช้หญ้าหนวดแมวสดหลายราย รู้สึกคลื่นไส้และใจสั่น ฉะนั้นควรใช้ใบที่ตากแดดจนเป็นสีน้ำตาล ซึ่งนอกจากจะไม่มีกลิ่นเหม็นเขียวแล้ว น้ำยาจะมีกลิ่นหอม รสขมเล็กน้อย
3. ควรปลูกและเก็บไว้ใช้เอง เพราะหญ้าหนวดแมวแห้งที่ซื้อจากร้านขายยานั้นมักจะมีใบน้อยแต่มีต้นแก่ปนมามาก และส่วนใหญ่ใบแก่อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง
4. ภายหลังดื่มยาอาจเกิดอาหารระคายคอเล็กน้อย
อ้อยแดง ใช้ลำต้นสดหรือแห้ง วันละ 1 กำมือ (ลำต้นสดหนัก 70-90 กรัม หรือใช้ลำต้นแห้งหนัก 30-40 กรัม) สับเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มกับน้ำจะได้ยารสขมๆหวานๆ แบ่งดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา ( 75 มิลลิลิตร) วันละ 2 ครั้ง





 14..สมุนไพรระงับกลิ่นปาก







          กลิ่นปากเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น การติดเชื้อในปาก ฟันผุ รวมถึงการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ หรือรับประทานอาหารบางชนิดที่มีกลิ่นแรง สมุนไพรที่ใช้ระงับหรือดับกลิ่นปาก มักมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค ที่นิยมใช้กันแพร่หลาย คือ
กานพลูใช้ดอกตูมแห้ง 2-3 ดอก อมไว้ในปากแล้วคายทิ้ง หรือบดเป็นผงและใช้อมหรือรับประทานในขนาดที่ใช้ขับลม
ฝรั่ง ใช้ใบสด 2-3 ใบ เคี้ยวและคายทิ้ง หลังจากรับประทานอาหาร




15..อาการคลื่นไส้อาเจียน









    อาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นกลไกที่ร่างกายกำจัดเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารออกทางปาก มีสาเหตุมากมาย ทั้งที่ไม่รุนแรง เช่น รับประทานอาหารมากเกินไป อาหารไม่ย่อย เป็นต้น จนถึงรุนแรงมาก เช่น ความผิดปกติของสมอง เลือดออกในสมองจากอุบัติเหตุ โรคตับอักเสบ กระเพาะอาหารอุดตัน ไส้ติ่งอักเสบ ติดเชื้อในทางเดินอาหารอย่างแรง เป็นต้น อาการอาเจียนที่สามารถใช้สมุนไพรได้ คือ เมารถ เมาเรือ อาหารไม่ย่อย หรือโรคที่ได้รับการวินิจฉัยและอยู่ในความดูแลของแพทย์ เช่น อยู่ระหว่างการรักษามาลาเรีย เป็นต้น
กะเพรา ยอดสด 1 กำมือ ต้มพอเดือด ดื่มเฉพาะส่วนน้ำ
ขิง ใช้เหง้าสดขนาดนิ้วหัวแม่มือ ต้มกับน้ำ หรือใช้ผงขิงชงน้ำดื่ม
ยอ ผลดิบแก่ให้ฝานผลเป็นชิ้นบางๆย่างไฟหรือคั่วให้เหลืองกรอบ ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม ต้มหรือชงดื่มน้ำร้อน จิบบ่อยๆ








 16..สมุนไพรแก้อาการท้องเสีย







        อาการท้องเสียเกิดจากสาเหตุหลายประการ อาการท้องเสียที่เกิดจากรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ซึงระคายเคืองเนื้อเยื่อบุผิวกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้บีบตัวมากผิดปกติ มักถ่ายหลังอาหารประมาณ 1-2 ชั่วโมงและต้องถ่ายบ่อย มีลักษณะหยาบและเป็นน้ำ กลิ่นเหม็นผิดปกติ ไม่มีอันตราย แต่จะมวนท้องและรำคาญ ใช้สมุนไพรรักษาได้ดี ที่สำคัญคือท้องเสียจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด มีเชื้อโรค เชื้อโรคที่ทำให้ท้องเสียมีอยู่หลายชนิด ทั้งที่มีพิษไม่รุนแรงนักจนถึงรุนแรงมาก เช่น อาหารเป็นพิษ อาจถ่ายเป็นน้ำสีเหลืองหรือขาวขุ่น เป็นฟองกลิ่นเหม็นเหมือนกุ้งเน่า บางครั้งมีอาเจียนร่วมด้วย หรือไม่ถ่ายแต่อาเจียนและปวดท้องมากก็ได้ มักท้องเสียใน 6-12 ชั่วโมง ควรรีบไปพบแพทย์และรักษาให้ถูกต้อง อาจเป็นอันตรายถึงตายได้
     สมุนไพรที่ใช้แก้อาการท้องเดินที่ใช้ได้ผลและหาได้ง่าย คือ ใบชาชงเข้มข้น กล้วยน้ำว้าดิบ ทับทิม ฟ้าทะลาย สีเสียดเหนือ มังคุดและฝรั่ง ควรงดอาหารรสจัด และทานอาหารอ่อนๆทดแทนการสูญเสียน้ำด้วยการดื่มน้ำเกลือซึ่งมีจำหน่าย หรือเตรียมเองก็ได้ โดยใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือป่นครึ่งช้อนชา น้ำ 1 ขวดน้ำปลา ต้มให้เดือดสักครู่ ทิ้งให้เย็น ดื่มแทนน้ำ
    สารสำคัญในสมุนไพรที่ออกฤทธิ์แก้อาการท้องเสียส่วนใหญ่ คือ สารในกลุ่มแทนนินซึ่งมีรสฝาดและมีฤทธิ์ฝาดสมาน ในกรณีท้องเสีย เนื้อเยื่อที่ผนังลำไส้ใหญ่มีการระคายเคือง อาจเนื่องจากสารอาหารรสจัด สารเคมีบางชนิดหรือพิษของเชื้อโรค ทำให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวมากกว่าปกติ จึงเกิดการถ่ายอุจจาระบ่อยๆ สารแทนนินเมื่อสัมผัสกับผนังลำไส้ใหญ่จะรวมตัวกับโปรตีนที่เนือ้เยื่อบุผิวแล้วเปลี่ยนเป็นสารที่สามารถทำลายโปรตีนของตัวเชื้อโรคและทำให้เชื้อโรคตาย การใช้สมุนไพรที่มีแทนนินมีข้อควรระวังสำหรับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เพราะแทนนินอาจถูกดูดซึมเข้าร่างกายในปริมาณมาก และมีผลเสียต่อตับ
กล้วยน้ำว้า รับประทานผลดิบสดครั้งละครึ่งถึง 1 ผล อาจใช้ผลดิบหั่นบางๆตากแห้ง บดเป็นผงชงน้ำดื่ม ใช้ผงยาเท่ากับครึ่งถึง 1 ผล
     ข้อควรระวัง อาจมีการท้องอืดหลังรับประทานยานี้ แก้ได้โดยดื่มน้ำต้มขิงหรือสมุนไพรขับลมอื่นๆ
ทับทิม ใช้เปลือกผลแห้งประมาณ 1/4 ของผล ต้มกับน้ำปูนใสดื่ม หรือใช้ครั้งละ 3-5 กรัม ต้มน้ำดื่ม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
ฝรั่งใช้ใบแก่ 10-15 ใบ ย่างไฟให้กรอก ต้มน้ำดื่ม 1 แก้ว เหยาะเกลือเล็กน้อย ดื่มต่างน้ำ หรือใช้ผลดิบ 1 ผล ฝนกับน้ำปูนใสดื่ม
ฟ้าทะลาย พืชสด 1-3 กำมือ ต้มน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง สำหรับผงฟ้าทะลายที่บรรจุแคปซูลๆละ 500 มิลลิกรัม ให้กินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า กลางวันและเย็น หยุดยาเมื่อหยุดถ่าย อาจใช้ในรูปผงละลายน้ำหรือปั้นเป็นลูกกลอนก็ได้ โดยคำนวณจากจำนวนเม็ดให้ได้ปริมาณยาตามที่กำหนด อาการข้างเคียงที่อาจพบ คือ คลื่นไส้ อาเจียนเป็นน้ำใส ไม่สบายในท้อง ถ้าเป็นมากให้หยุดยา
มังคุด ใช้เปลือกผลแห้งครึ่งผล (ประมาณ 4 กรัม) ย่างไฟให้เกรียม บดเป็นผงละลายน้ำหรือฝนกับน้ำปูนใสประมาณครึ่งแก้ว ใช้น้ำดื่มทุก 2 ชั่วโมง



17..สมุนไพรรักษาริดสีดวงทวาร




ริดสีดวงทวาร คือ โรคที่เส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักโป่งพอง ซึ่งอาจเป็นเส้นเลือดที่บริเวณปากทวารหนัก เรียกว่า ริดสีดวงทวารภายนอก ถ้าเป็นเส้นเลือดที่ผนังท่อทวารหนัก จะเรียกว่า ริดสีดวงทวารภายใน
     อาการของริดสีดวงทวารระยะแรก อาจมีเพียงการถ่ายอุจจาระลำบาก คันก้น รู้สึกเจ็บเวลาถ่าย บางครั้งมีเลือดออกเวลาถ่ายหรือหลังการถ่ายอุจจาระ มีลักษณะเป็นเลือกสีแดงสดๆ ถ้าไม่ปรับปรุงพฤติกรรมหรือไม่ได้รับการรักษา อาการจะเด่นชัดขึ้น คือ มีหัวริดสีดวงโผล่ออกมาที่ปากทวารหนักเป็นก้อนเนื้อนุ่มๆอักเสบ เจ็บปวดมากจนนั่งเก้าอี้หรือพื้นแข็งไม่ได้ มักพบในคนที่มีภาวะความกดดันของเส้นเลือดบริเวณทวารหนักนานๆ เช่น มีอาการท้องผูกบ่อยๆ ไอเรื้อรัง อ้วน นั่งทำงานนานๆ เป็นต้น
     การป้องกันและการดูแลตนเอง
1. ควรระวังอย่าให้ท้องผูกเรื้อรัง หรืออย่าเบ่งแรงๆ หรือนานๆเวลาถ่ายอุจจาระ ควรรับประทานน้ำ ผัก ผลไม้ให้มากๆเพื่อไม่ให้ท้องผูก หรืออาจใช้ยาระบายช่วยเป็นครั้งคราว ถ้ามีอาการมากควรไปพบแพทย์ เพราะอาจต้องรักษาโดยการผ่าตัด
2. ป้องกันไม่ให้มีการอักเสบหรือติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยทำความสะอาดหลังอุจจาระด้วยสบู่และน้ำสะอาด การเช็ดแรงๆจะทำให้อักเสบและติดเชื้อโรคง่าย
3. ถ้าปวดมาก ให้กินยาแก้ปวดและนั่งแช่ในน้ำอุ่น ผสมด่างทับทิมนาน 15-30 นาที วันละ 2-3 ครั้ง
4. ถ้าเลือดออกบ่อยๆ ให้สังเกตว่าเยื่อบุตาและเนื้อใต้เล็บซีดกว่าคนทั่วไปหรือไม่ ถ้าซีดควรไปพบแพทย์
5. ถ้ามีเลือดออกนานเกิน 1 สัปดาห์ หรือผู้ป่วยเกิน 40 ปี ควรไปพบแพทย์เพราะอาจมีโรคอื่นๆร่วมด้วย
เพชรสังฆาต ใช้ลำต้นสดหรือแห้งครั้งละ 2-3 องคุลี (6-9 ซม.) เป็นเวลา 10-15 วันติดต่อกัน โดยหั่นบางๆ ใช้เนื้อมะขามเปียกหรือเนื้อกล้วยสุกหุ้ม กลืนทั้งหมด เพราะเถาสดอาจทำให้คันคอหรือใช้ดองเหล้า 7 วัน รินเฉพาะส่วนน้ำดื่ม
     ข้อควรระวัง ในต้นมีสารแคลเซียมออกซาเลท เป็นผลึกรูปเข็มอยู่มาก ทำให้ระคายเคืองลำคอได้เช่นเดียวกับบอน จึงนิยมสอดไส้ในกล้วยสุกหรือมะขามแล้วกลืนพร้อมกัน ปัจจุบันมีผู้ใช้เถาแห้ง บดเป็นผง และบรรจุแคปซูลรับประทานเพื่อแก้ปัญหานี้ แต่ยังคงสามารถทำให้ผู้ใช้บางคนปวดท้องได้





18..สมุนไพรแก้ท้องผูก








        อาการท้องผูกเกิดจากสาเหตุหลายประการ ที่สำคัญ คือ ชอบรับประทานอาหารที่มีกากน้อย ได้แก่ อาหารจำพวกแป้ง เนื้อสัตว์ ข้าวและขนมหวานต่างๆ ไม่ชอบรับประทานผักและผลไม้ ดื่มน้ำน้อยเกินไป ถ่ายอุจจาระไม่เป็นเวลาและชอบกลั้นอุจจาระ ออกกำลังกายน้อยเกินไป ความเครียดในการงาน คนแก่มักท้องผูกเพราะความต้องการอาหารน้อยลงและลำไส้ไม่ค่อยทำงาน คนไข้ที่นอนนานๆไม่ได้ออกกำลัง ลำไส้จะไม่บีบตัวและท้องผูก
     วิธีแก้ไข รับประทานอาหารที่มีกาก เช่น ผัก ผลไม้ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ออกกำลังให้สม่ำเสมอ ถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน ถ้าจำเป็นใช้สมุนไพรที่เป็นยาระบาย
     ข้อควรระวังในการใช้ยาระบายหรือยาถ่าย
1. คนไข้อ่อนเพลีย
2. มีอาการปวดท้องรุนแรงหรืออาเจียน
3. ท้องผูกเป็นเวลานาน ใช้ยาระบายไม่ได้ผล ควรสงสัยว่าอาจเป็นเพราะลำไส้อุดตัน
4. มีการอักเสบในช่องท้อง เช่น ไส้ติ่งอักเสบ

ผู้ป่วยข้างต้นควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
     หลักการเลือกใช้สมุนไพรที่เป็นยาระบาย คือ ควรเลือกให้เหมาะกับสาเหตุของอาการท้องผูก ดังนี้
1. ยาระบายชนิดเพิ่มกาก เป็นสมุนไพรที่มีส่วนประกอบเป็นโพลีแซคคาลายด์ ซึ่งมีโมเลกุลใหญ่ เช่น เม็ดแมงลัก หรือมีเส้นใยมาก ได้แก่ มะละกอสุก เป็นต้น เหมาะกับผู้ที่รับประทานอาหารที่มีกากน้อย
2. ยาระบายชนิดกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้บีบตัวเพื่อขับถ่าย เหมาะกับคนสูงอายุ ผู้ป่วยที่นอนนานๆ นักธุรกิจที่เคร่งเครียด หรือท้องผูกด้วยสาเหตุอื่นๆ สมุนไพรในกลุ่มนี้มีสารแอนทราควิโนนกลัยโคซายด์เป็นสารสำคัญ ได้แก่ ชุมเห็ดเทศ มะขามแขก เป็นต้น ยาระบายชนิดนี้นิยมใช้กันมาก แต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 7 วัน เพราะพบว่ามีการทำลายระบบประสาทที่ควบคุมการบีบตัวของลำไส้ หรือทำให้ลำไส้ชินต่อยาและไม่ยอมทำงานตามธรรมชาติ คนไข้จะต้องรับประทานยาถ่ายชนิดนี้ทุกวันและต้องเพิ่มขนาดขึ้น ห้ามใช้กับเด็กและหญิงมีครรภ์
     ในบางกรณีควรแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาทั้งสองกลุ่มร่วมกันจะได้ผลดีกว่า เช่น คนชราซึ่งท้องผูกเพราะรับประทานอาหารน้อยและลำไส้ไม่ค่อยทำงาน
3. ยาระบายชนิดเป็นกรดหรือเกลือ เช่น มะขามเปียก ความเป็นกรดหรือเกลือจะทำให้ระดับความเป็นกรดด่างในทางเดินอาหารเปลี่ยนไป ร่างกายจะขับน้ำเข้ามาในทางเดินอาหารมากขึ้น เพื่อปรับสภาพกรดด่างจึงทำให้ระบายได้

ขี้เหล็ก ใช้ใบอ่อน 2-3 กำมือ หรือแก่นขนาดยาวชิ้นละ 2 องคุลี (4-6 ซม.) 3-4 ชิ้น ต้มกับน้ำ 1 ถึง 1ครึ่งถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อย ดื่มตอนเช้า หรือก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว
คูน ใช้เนื้อในฝักก้อนขนาดหัวแม่มือ (4 กรัม) ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ใส่เกลือเล็กน้อย รับประทานครั้งเดียว
ชุมเห็ดเทศ ใช้ช่อดอก 1-3 ช่อ ต้มจิ้มน้ำพริก หรือใบสด 8-12 ใบ ปิ้งไฟให้เหลือง หั่นต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อย รินเฉพาะน้ำดื่มหรือใบแห้ง ขนาดเท่ากับใบสดต้มหรือชงน้ำดื่ม หรือบดเป็นผงปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย รับประทานก่อนนอน หรือเมื่อมีอาการท้องผูก
มะขาม ใช้มะขามเปียก 10-20 ฝัก (70-80 กรัม) จิ้มเกลือ รับประทานหรือดื่มน้ำตามมากๆ หรือทำเป็นน้ำมะขามดื่ม
     ข้อควรระวัง รับประทานมากไปอาจทำให้ท้องเสียได้
มะชามแขก ใช้ใบ 2 กรัม หรือฝัก 10-15 ฝัก ขิงประมาณ 1 กรัม หรือกานพลู 1-2 ดอก ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว 5 นาที เติมเกลือเล็กน้อย รับประทานครั้งเดียว
มะละกอ รับประทานเป็นผลไม้
แมงลัก ใช้ผลครึ่งถึง 1 ช้อนชา แช่น้ำให้พอง แล้วรับประทานครั้งเดียวก่อนนอน
     ข้อควรระวัง อย่ารับประทานมากเกินไปจะทำให้แน่นท้องได้




 19..สมุนไพรรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้



สาเหตุของโรคดังกล่าวยังไม่ชัดเจน ปกติจะมีสารเมือก (mucin) หลั่งออกจากต่อมในส่วนล่างของหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและส่วนบนของลำไส้เล็ก เพื่อป้องกันเยื่อบุกระเพาะจากฤทธิ์กัดของน้ำย่อยที่เป็นกรดอย่างแรง แต่มีปัจจัยบางอย่างที่คาดว่าจะทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอ่อนแอลง เกิดการอักเสบและเป็นแผลได้ง่าย เช่น ภาวะขาดอาหาร ภาวะเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ รับประทานยาหรือสารบางชนิดที่กัดกระเพาะ สูบบุหรี่จัด ดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนมากหรือเนื่องจากกรรมพันธุ์
    อาการระยะแรก คือ ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ อาจมีความรู้สึกอิ่มแน่นหรือหิวร่วมด้วย แผลในกระเพาะอาหารมักปวดท้องหลังอาหารประมาณ 1-ชั่วโมงครึ่ง ส่วนแผลในลำไส้มักปวดท้องหลังอาหารประมาณ 2-4 ชั่วโมง และช่วงดึกหลังเที่ยงคืนด้วย
     การรักษาจะไม่หายขาด ผู้ป่วยจะต้องดูแลตนเองคล้ายกับผู้ป่วยท้องอืด ท้องเฟ้อ ระยะที่ปวดท้องควรดื่มนมถั่วเหลืองทุก 3-4 ชั่วโมงพร้อมทั้งใช้สมุนไพรที่แนะนำ รับประทานอาหารอ่อน ทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่ทานบ่อยๆ งดอาหารรสจัดและสิ่งต้องห้ามข้างต้น และหาทางคลายเครียดด้วย จะมีสมุนไพรที่ช่วยรักษาเยื่อบุทางเดินอาหารให้แข็งแรงขึ้น และควรใช้สมุนไพรขับลมร่วมด้วย
กล้วยน้ำว้ารับประทานผลดิบสดครั้งละครึ่งถึง 1 ผล อาจใช้ผลดิบหั่นบางๆตากแห้ง บดเป็นผงชงน้ำดื่ม ใช้ผงยาเท่ากับครึ่งถึง 1 ผล
     ข้อควรระวัง อาจมีอาการท้องอืดหลังรับประทานยานี้ แก้ได้โดยดื่มน้ำต้มขิงหรือสมุนไพรขับลมอื่นๆ
ขมิ้นชัน
ผงขมิ้นครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอนหรือปั้นเป็นลูกกลอนขนาดปลายนิ้วก้อย รับประทานครั้งละ 2 เม็ด





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น